ทำความรู้จัก ‘สังคมผู้สูงอายุ’ พร้อมเรียนรู้วิธีการดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกวิธี
หลายคนอาจเคยได้ยินได้ฟังกันมาว่า ประเทศไทยของเรากำลังเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ทว่า อาจยังไม่เข้าใจว่า สังคมผู้สูงอายุนั้นคืออะไร โดยวันนี้ ทางศูนย์ PNKG Recovery and Elder Care จะมาแบ่งปันเนื้อหาสาระดี ๆ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ตลอดจนวิธีการที่เหมาะสมในการดูแลผู้สูงอายุ ผ่านบทสัมภาษณ์ กภ.เสกศิษฎ์ เกตุโต หัวหน้านักกายภาพบำบัด ประจำศูนย์ PNKG Recovery and Elder Care ของเรา ให้ทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน !
สังคมผู้สูงอายุ คืออะไร ?
‘สังคมผู้สูงอายุ’ (Aging Society) คือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด และหากสังคมใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 20 หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 14 ก็จะเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์’ (Aged Society) และ ‘สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด’ (Super-aged Society) คือ สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 28
ในส่วนของสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุภายในประเทศ ประเทศไทยเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ มาหลายปี โดยจากข้อมูลปี พ.ศ. 2561 พบว่า มีประชากรไทยจำนวนทั้งหมด 66.4 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ 10.6 ล้านคน นับเป็นร้อยละ 16.06 และในปี พ.ศ. 2562 ประชากรผู้สูงอายุมีมากถึง 11.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.5 ของประชากรทั้งหมดจำนวน 69.3 ล้านคน และประเทศไทยก้าวเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์’ ในปี พ.ศ. 2565 โดยจำนวนผู้สูงอายุจะอยู่ราวร้อยละ 20 – 30 และที่สำคัญ ประเทศไทยจะกลายเป็น ‘สังคมสูงอายุระดับสุดยอด’ เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 28 ในปี พ.ศ. 2574
การดูแลผู้สูงอายุ ควรทำอย่างไร ?
การดูแลผู้สูงอายุ ควรทำอย่างพอดี โดยลูกหลานหรือผู้ดูแลสามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุในสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง และควรเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองในสิ่งที่พวกเขายังสามารถทำได้ เพื่อไม่ให้เป็นการ ‘ดูแลผู้สูงอายุเกินความจำเป็น’
การให้การดูแลเกินการความจำเป็น นอกจากเป็นการจำกัดความสามารถในการพัฒนาในส่วนที่บกพร่องของผู้สูงอายุแล้ว ยังเป็นการลดทอนความสามารถในข้างที่สามารถใช้งานได้ปัจจุบัน ทั้งในด้านของความแข็งแรง ทักษะการเคลื่อนไหว การประสานสัมพันธ์ของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ อันจะนำมาซึ่งปัญหาถดถอยและเสี่ยงต่อภาวะติดเตียงในที่สุด
วิธีการดูแลผู้สูงอายุแบบไหน ที่เข้าข่ายดูแลผู้สูงอายุมากเกินไป ?
จากพื้นฐานวัฒนธรรมและบริบทในสังคมไทย บุตรหลานต้องให้การดูแลผู้ใหญ่ พ่อแม่ ทั้งนี้ การดูแลนั้นจะต้องเป็นการดูแลที่ไม่จำกัดการพัฒนาความสามารถของผู้สูงอายุ เช่น:
- ช่วยผู้สูงอายุสวมเสื้อผ้า ไม่ให้ผู้สูงอายุได้พยายามด้วยตนเอง
- ช่วยทำความสะอาดร่างกายผู้สูงอายุ โดยไม่สนับสนุนให้ลุกไปอาบน้ำ
- ให้ผู้สูงอายุสวมผ้าอ้อมตลอดเวลา ลดโอกาสการขับถ่ายในห้องน้ำ
- ให้ผู้สูงอายุทำกิจวัตรประจำวันบนเตียง เป็นการจำกัดการใช้งานร่างกาย
- ป้อนอาหารผู้สูงอายุ ผู้ที่สามารถจัดการเรื่องอาหารเองได้
ครอบครัวควรทำความเข้าใจ เพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกต้องเหมาะสม
สำหรับครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ การทำความเข้าใจถึงปัญหาและการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและการรับรู้เป็นสิ่งสำคัญ โดยควรให้การดูแลในระดับที่พวกท่านยังสามารถใช้ความสามารถของตนเอง และไม่ให้การช่วยเหลือเกินความจำเป็น ควบคู่กับการส่งเสริมสุขภาพเพื่อคงความแข็งแรงของร่างกาย และเข้ารับการฟื้นฟูในกรณีที่มีภาวะเจ็บป่วยหรือมีความเสี่ยงต่อภาวะสุขภาพอื่น ๆ
อ้างอิง: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)