เส้นเลือดในสมองตีบ ตัน (Ischaemic Stroke) หรือภาวะสมองขาดเลือด เกิดจากการอุดตัน หรือตีบตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง จากภาวะการเปลี่ยนแปลงที่ผนังหลอดเลือด เช่น ไขมันและเกล็ดเลือดเกาะที่ผนังหลอดเลือด, การสร้างชั้นผนังเซลล์หลอดเลือดผิดปกติ หรือลิ่มเลือดจากที่อื่นหลุดลอยมาอุดตันที่สมอง เป็นต้น
จนทำให้เนื้อสมองเกิดการบาดเจ็บ และเซลล์สมองตายจึงส่งผลให้ร่างกายสูญเสียการทำงานอย่างฉับพลัน เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือการเสียชีวิต ภาวะนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งภาวะเร่งด่วนทางการแพทย์ ที่จำเป็นต้องถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะยิ่งวินิจฉัย และรักษาได้เร็วเท่าใด ก็จะยิ่งลดความเสียหายของสมองได้มากขึ้นเท่านั้น.
โรคเส้นเลือดสมองตีบ ตัน พบได้มากกว่า โรคเส้นเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) และยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย.
ปัจจัยเสี่ยงของเส้นเลือดสมองตีบ ตัน
- อายุ: ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะเมื่อมากกว่า 50 ปี
- โรคความดันสูง: โดยเฉพาะผู้ที่ควบคุมความดันได้ไม่ดี
- ผู้ที่สูบบุหรี่
- ผู้ที่ดื่มสุรา และใช้สารเสพติด
- ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง
- โรคทางพันธุกรรมบางชนิด
- โรคเกี่ยวกับหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- โรคเบาหวาน
- ภาวะอ้วน, การขยับร่างกายน้อย, ไม่ออกกำลังกาย
การตรวจสุขภาพประจำปี และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ จะช่วยลดการเกิด โรคเส้นเลือดสมอง หรือ สโตรก (Stroke) และโรคร้ายต่าง ๆ ได้.
อ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด เดินเซ เวียนหัว ตามัว ยาดมอาจไม่ใช่คำตอบ!
หากคุณ หรือคนรอบข้างคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคเส้นเลือดสมอง ควรทำความรู้จักกับ 5 อาการสัญญาณเตือนว่าควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด เพราะโรคนี้ไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อน.
“BE FAST” อาการของโรคเส้นเลือดสมองสามารถสังเกตได้
- B – BALANCE: สูญเสียการทรงตัว
- E – EYE: มองเห็นภาพซ้อน ภาพเบลอ หรือสูญเสียการมองเห็น
- F – FACE: ใบหน้าอ่อนแรง มีอาการชา หรือปากเบี้ยว
- A – ARM: แขนขาอ่อนแรง หรือมีอาการชาครึ่งซีก
- S – SPEECH: พูดไม่ชัด พูดลำบาก พูดไม่ได้ หรือพูดไม่เข้าใจ
- T – TIME: ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
เมื่อผู้ป่วยเส้นเลือดสมองตีบถึงมือแพทย์
โรคเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน เป็นโรคที่ไม่มีอาการเตือนมาก่อน ดังนั้น ก่อนมาถึงโรงพยาบาลผู้ป่วยมักมีอาการ “BE FAST” มาแล้ว และเพื่อประเมินหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด ได้แก่:
- ซักประวัติ: อาการ, ระยะเวลา, โรคประจำตัว, ปัจจัยเสี่ยง
- การตรวจร่างกาย: ความดัน, สัญญาณชีพ, ระบบประสาท
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: ตรวจค่าเลือด
- การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ: เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG หรือ EKG)
การตรวจทางภาพวินิจฉัย: เช่น CT Scan, MRI, CTA หรือ MRA.
การรักษาเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน
เมื่อวินิจฉัยหาต้นเหตุของโรคได้แล้ว แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายคือการกำจัดลิ่มเลือดเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปยังสมองและลดความเสียหาย ซึ่งมี 2 วิธีหลักในการกำจัดลิ่มเลือด:
- การให้ยาละลายลิ่มเลือด: การให้ยา Thrombolysis ทางหลอดเลือดดำ โดยแพทย์จะสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด (ทำได้ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง)
- การใช้เครื่องมือขดลวดสวนหลอดเลือด (Endovascular หรือ Mechanical Thrombectomy): ใช้อุปกรณ์พิเศษคล้ายตาข่าย (Stent Retriever) เพื่อแก้ไขการอุดตันของหลอดเลือด (ทำได้ในผู้ป่วยที่มีอาการ 6-24 ชั่วโมง)
สิ่งที่ต้องทำหลังจากพ้นภาวะวิกฤติโรคเส้นเลือดสมองตีบ
- ฝึกกลืน เพื่อความปลอดภัยในการรับประทานอาหารและน้ำ
- ทดสอบการขยับร่างกาย การตอบสนอง การพูด และการมองเห็น
- ประคองลุก และเดิน (หากสามารถทำได้)
- เริ่มทำกายภาพบำบัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อในปอด ข้อยึด
อย่าชะล่าใจ สโตรกเป็นแล้วก็เป็นซ้ำได้!
เส้นเลือดในร่างกายมีความเสี่ยงที่จะอุดตันซ้ำ แม้จะซ่อมเส้นหนึ่งแล้ว อีกเส้นก็ยังมีโอกาสตันได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคเส้นเลือดสมองตีบจึงควรดูแลตัวเอง เพื่อลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ:
- รับประทานยา: ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด โดยแพทย์จะสั่งจ่ายยาตามความเหมาะสม
- การดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง: เช่น ควบคุมความดัน น้ำตาลในเลือด ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
กายภาพบำบัด … ยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งดี
การทำกายภาพบำบัดควรเริ่มทันทีที่ร่างกายพ้นภาวะวิกฤต เพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด การฟื้นฟูควรออกแบบเฉพาะบุคคลตามอาการของแต่ละคน.
ทักษะและกิจกรรมที่ผู้ป่วยเส้นเลือดสมองตีบควรได้รับการฟื้นฟู
- เรียนรู้ทักษะการดูแลตัวเอง เช่น รับประทานอาหาร, อาบน้ำ, ขับถ่าย
- เรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหว เช่น เดิน, ย้ายตัวเอง
- เรียนรู้ทักษะการสื่อสาร เช่น การพูดและตอบโต้บทสนทนา
- เรียนรู้ทักษะการคิดวิเคราะห์ เช่น ความจำ, การแก้ปัญหา
- การออกกำลังกายที่เหมาะสมเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อและการทรงตัว
- การออกกำลังกายลูกตา สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบในการมองเห็น
New Normal เพราะการจับช้อนไม่ได้มีแค่วิธีเดียว
เมื่อสมองขาดเลือด การควบคุมการทำงานของร่างกายอาจไม่เหมือนเดิม ผู้ป่วยต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบใหม่ ซึ่งสมองจะสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์เส้นทางใหม่ทดแทนเส้นทางเดิมที่เสียหาย.
รวมกันเราอยู่ (ได้ดีกว่าเดิม)
ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองตีบต้องการการฟื้นฟูในหลากหลายด้าน ดังนั้นทีมสหวิชาชีพจึงต้องทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตของผู้ป่วยให้พัฒนาสูงสุด.
- นักกายภาพบำบัด (PT): ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวและการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน
- นักกิจกรรมบำบัด (OT): ฟื้นฟูทักษะในชีวิตประจำวัน เช่น ฝึกกลืน ฝึกความคิดความเข้าใจ
- แพทย์: ให้คำแนะนำและตรวจอาการข้างเคียง
- พยาบาลและผู้ดูแล: ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วยและครอบครัว
- นักโภชนาการ: ควบคุมปริมาณสารอาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
PNKG Recovery and Elder Care ศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยแบบองค์รวม
“คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ เริ่มต้นจากการไม่ต้องใส่ผ้าอ้อม” การเข้าห้องน้ำด้วยตัวเองได้ คือหนึ่งในทักษะที่ศูนย์ PNKG มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยทำได้ด้วยตนเอง เพราะหมายถึงความสามารถในการดูแลตัวเองในหลายด้าน.
ให้เราช่วยทำฝันของคุณให้เป็นจริง
ศูนย์ PNKG จะสอบถามถึงเป้าหมายของผู้ป่วยและญาติ และออกแบบตารางการฝึกตามความต้องการ เพื่อให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมที่มีความสุขและเติมเต็มกำลังใจ.
บทความนี้ได้รับการตรวจทานโดย: นพ.วุทธิกรณ์ พันธุ์ประสิทธิ์ (อายุรแพทย์ระบบประสาท โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ)