รู้หรือไม่? ผู้ป่วยสโตรกเดินไม่ได้อาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากการอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อเพียงอย่างเดียว แต่อาจะเป็นเพราะ “ผู้ป่วยหลงลืมวิธีการเดินแบบปกติไปแล้ว!!”
เพราะรอยบาดแผลของกลุ่มผู้ป่วยคือ “สมอง”
ต้องเกริ่นก่อนว่า บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บของผู้ป่วยสโตรกคือบริเวณสมอง และมีโอกาสที่อาการบาดเจ็บดังกล่าวจะไปกระทบในส่วนของความจำและการควบคุมการสั่งการของร่างกายในการเคลื่อนไหว นั่นจึงเป็นสาเหตุที่การฝึกพละกำลังของกล้ามเนื้อเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอในการดูแลฟื้นฟู ดังนั้น ผู้ป่วยสโตรกควรมีการฝึกเรียนรู้ผ่านระบบประสาทยนต์ (Motor Learning) หรือฝึกเพื่อให้สมองได้เรียนรู้วิธีการสั่งงานการเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมชาตินั่นเอง
Motor learning ความหมายของการเรียนรู้ผ่านประสาทยนต์
โดยปกติแล้ว การเคลื่อนไหวของมนุษย์มีการถูกควบคุมทั้งแบบที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ โดยจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมโดยรอบ ซึ่งระบบประสาทส่วนกลางที่อยู่ในสมองและตัวรับรู้ความรู้สึกจะทำงานร่วมกันเป็นผลให้เกิดการเคลื่อนไหวนั่นจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากในการเรียกกระบวนการการควบคุมเหล่านี้กลับมา โดยการฝึกซ้ำไปซ้ำมา เรียนรู้แล้วเรียนรู้อีกจนสมองสามารถจดจำกระบวนการเหล่านี้ได้
ผู้ป่วยสโตรกเหมือน “เด็กแรกหัดเดิน”
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ เช่น ในตอนเป็นเด็กนั้น เราคงไม่สามารถที่จะเล่นเปียโนได้ หรือปั่นจักรยานได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มฝึก เราจำเป็นต้องมีการฝึกซ้ำไปซ้ำมา ลองผิดลองถูกจนเกิดเป็นความชำนาญในที่สุด
เหตุผลเป็นเช่นนั้นเพราะว่า สมองจะได้มีการจดจำวิธีการที่จะเคลื่อนไหวอย่างไรให้ราบรื่นและชำนาญ ซึ่งกระบวนการทางสมองนี้แหละที่เรียกว่า การเรียนรู้ผ่านประสาทยนต์ หรือ Motor learning โดยผู้ป่วยสโตรกส่วนใหญ่จะสูญเสียความทรงจำตรงนี้ไป จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากในการใช้ทฤษฎีการฝึกเรียนรู้ผ่านประสาทยนต์หรือ Motor Learning ร่วมด้วยกับการฝึกความแข็งแรงทั่วไป ในการนำความสามารถในการเคลื่อนไหวกลับมานั่นเอง