PNKG RECOVERY CENTER ศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง(Stroke) ระบบประสาท ฟื้นฟูหลังผ่าตัด และผู้สูงอายุ

“ศูนย์ฟื้นฟู VS ศูนย์บริบาลหรือบ้านพักคนชรา เลือกสถานบริบาลอย่างไรให้เหมาะสมกับคนที่คุณรัก”

  • Home
  • ข่าวสาร
  • “ศูนย์ฟื้นฟู VS ศูนย์บริบาลหรือบ้านพักคนชรา เลือกสถานบริบาลอย่างไรให้เหมาะสมกับคนที่คุณรัก”

“ศูนย์ฟื้นฟู VS ศูนย์บริบาลหรือบ้านพักคนชรา เลือกสถานบริบาลอย่างไรให้เหมาะสมกับคนที่คุณรัก”

ในปัจจุบันเราแทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสังคมประเทศไทย ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2561 จากการอ้างอิงของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หมายถึงประเทศไทยจะมีอัตราผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ10 ของประชากรทั้งหมด โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันลดลง อีกทั้งยังมีปัญหาสุขภาวะจากโรคประจำตัว ร่วมกับภาวะเปราะบางหรือทุพพลภาพในผู้สูงอายุบางรายร่วมด้วย

ส่งผลให้บางครอบครัวมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการให้การดูแลผู้สูงอายุในกลุ่มดังกล่าวประกอบกับรูปแบบการดำเนินชีวิตของประชากรที่เป็นครอบครัวเดี่ยว ฉะนั้นการหาสถานที่ในการให้การช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่การจะเลือกสถานบริบาลแต่ละที่นั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคนเสมอไป ดังนั้นวันนี้เราจึงจะมาคุยถึงแนวทางการเลือกสถานบริบาลที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและปัญหาของพวกท่าน

สถานบริบาลในอุดมคตินั้นควรจะเป็นสถานที่สนับสนุนคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ในขณะที่ไม่เป็นการจำกัดความสามารถของผู้สูงอายุ อีกทั้งยังต้องสนับสนุนและช่วยเหลือในส่วนที่พวกท่านนั้นบกพร่อง แต่ในปัจจุบัน (มีนาคม 2566) สถาบริบาลที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกระทรวงสาธารณสุขมีมากกว่า 786 แห่ง และกระจุกตัวอย่างมากในสังคมเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑล ดังนั้นการเลือกสถานบริบาลที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละรายจึงเป็นอีกสิ่งที่ควรพิจารณาก่อนจะพาผู้สูงอายุที่ท่านรักไปรับการดูแลตามสถานบริบาลนั้นๆ

เกณฑ์เบื้องต้นในการพิจารณาคือความความรุนแรงของปัญหาที่ผู้ป่วยเป็น อันแสดงออกถึงความสามารถของผู้สูงอายุ ซึ่งปกติหลังจากภาวะผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่มีภาวะบาดเจ็บหรือได้รับการรักษาในระยะเฉียบพลัน(Acute phase) จะมีปัญหาทางพยาธิสภาพที่คงที่ และสามารถกลับมาพักฟื้นที่บ้านด้วยการดูแลของครอบครัวได้ ในระยะนี้จะถือว่าเป็นระยะฟื้นฟู (Recovery phase) ในระยะนี้ ร่างกายจะมีความสามารถที่ด้อยกว่าภาวะปกติ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟูเพื่อมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยคืนความสามารถให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุดตามเเต่ข้อจำกัดของผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งความแข็งแรงทางร่างกาย ตลอดจนการรับรู้ความเข้าใจ ให้มีความสามาถเพียงพอต่อการทำกิจกรรมพื้นฐานและสามารถลดระดับความช่วยเหลือจากรอบข้าง ซึ่งหากพ้นจากระยะฟื้นฟูแล้วผู้ป่วยจะมีอัตราการพัฒนาที่ช้าลงและเข้าสู่ระยะคงความสามารถ (Maintenance phase) ซึ่งจะเป็นการปรับใช้ความสามารถที่มีกับการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งระยะของผู้ป่วยแต่ละรายและความรุนแรงนี้ก็มีผลต่อการเลือกสถานบริบาลเนื่องจากจุดประสงค์ของการดูแลที่แตกต่างกัน อีกปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเลือกสถานบริบาลคือแรงจูงใจของผู้ป่วยต่อการช่วยเหลือตนเองรวมถึงทัศนติต่อการกลับมาช่วยเหลือตนเอง เนื่องจากเป็นประเด็นหลักที่ส่งผลต่อความร่วมมือในการฟื้นฟูตามแต่ละระยะ

หากเราทราบปัจจัยทั้งสองส่วนนี้และจะสามารถนำมาเป็นกรอบในการพิจารณาชนิดของสถานบริบาลตามแผนภาพได้ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยมีความสามารถสูง ช่วยเหลือตนเองได้มาก และมีแรงจูงใจสูง การฟื้นฟูในศูนย์ฟื้นฟู (Recovery center) จะช่วยพัฒนาความสามารถให้ผู้ป่วยก้าวข้ามอุปสรรคในกาดำเนินชีวิตไปได้อย่างรวดเร็ว

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยมีความสามารถสูง ช่วยเหลือตนเองได้มาก แต่มีแรงจูงใจน้อย การดูแลด้วยศูนย์บริบาล (Nursing home) ที่มีการกระตุ้นแรงจูงใจด้วยการทำกิจกรรมกลุ่ม หรือทำทำกิจกรรมร่วมกับผู้ป่วยรายอื่นๆ ในลักษณะของทำกิจกรรมที่เขาสนใจและการมีส่วนร่วมก็เป็นการเพิ่มแรงผลักดันให้กลับมาทำกิจกรรมและพัฒนาไปสู่การฝึกที่ศูนย์ฟื้นฟูถัดไป

กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยมีความสามารถน้อย ต้องพึ่งพาการช่วยเหลือมาก แต่มีแรงจูงใจสูง การพิจารณาอาจขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง กล่าวคือ หากผู้ป่วยมีข้อจำกัดที่ไม่มากเกินไปการกระตุ้นให้ใช้งานด้วยศูนย์ฟื้นฟู (Recovery center) จะเป็นการพัฒนาความสามารถของผู้ป่วย แต่หากผู้ป่วยมีข้อจำกัดที่สูงมาก การประดูแลพื้นฐานด้วยศูนย์บริบาล (Nursing home) เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ความสามารถตามข้อจำกัดของตนที่ไม่เป็นการจำกัดการพัฒนา (over care) และการทำกิจกรรมพื้นฐานเพื่อป้องกันภาวะถดถอยจากการไม่ใช้งานก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พึงกระทำ

กลุ่มที่ 4 ผู้ป่วยมีความสามารถน้อย ต้องพึ่งพาการช่วยเหลือมาก และขาดแรงจูงใจในกรทำกิจกรรม การให้การดูแลหลังจะเน้นเพื่อประคับประคองและคงความสามารถ พร้อมทั้งการดูแลเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ แผลกดทับ ข้อต่อยึดติด เป็นต้น

เมื่อท่านสามารถกำหนดชนิดของสถานบริบาลได้แล้ว การคำนึงถึงคุณภาพของสถานบริบาลก็เป็นอีกสิ่งที่ไม่ควรละเลย ทั้งนี้ควรพิจารณาถึง การให้บริการที่มีกระบวนการดูแลสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมระหว่างวัน ลดการใช้ชีวิตบนเตียง รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการดูแลและติดตามผลที่เป็นรูปแบบมาตรฐาน อีกทั้งยังต้องให้ดูแลด้วยบุคลากรที่น่าเชื่อถือที่ผ่านการอบรมทางวิชาชีพ ทั้งนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด พยาบาลและเจ้าหน้าที่ด้านการฟื้นฟู หากองค์ประกอบของการดูแลสมบูรณ์และเหมาะสมตามปัญหาของผู้ป่วยแต่ละรายแล้ว การฟื้นความสามารถของผู้ป่วยก็เป็นสิ่งที่ไม่เกินความสามารถในการดูแลของครอบครัวอีกต่อไป…

ต้องการคำแนะนำด้านการฟื้นฟูทางกายภาพ

Related Article

Search

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save