ผู้ป่วยติดเตียง (Bedridden) คืออะไร? ทำความรู้จักภาวะนอนติดเตียง เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จนต้องนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานาน ซึ่งนอกจากเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ผู้ป่วยติดเตียง มีกี่ประเภท? แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร? พร้อมแชร์วิธีการดูแลผู้สูงอายุป่วยติดเตียงอย่างไรให้ถูกต้องและเหมาะสม
ผู้ป่วยติดเตียง (Bedridden) คืออะไร?
ผู้ป่วยติดเตียง (Bedridden) หรือผู้สูงอายุติดเตียง หมายถึง กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ทั้งการนั่ง หรือยืน และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เหมือนคนทั่วไป ซึ่งเกิดจากภาวะถดถอยทางร่างกาย หรือ Disuse Syndrome ทำให้ผู้ป่วยต้องนอนอยู่บนเตียงและต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยส่วนใหญ่ ภาวะติดเตียงมักจะพบในผู้ป่วยที่เผชิญกับโรครุนแรงและกลุ่มผู้สูงอายุ
กลุ่มโรคใดบ้างที่อาจนำไปสู่ภาวะติดเตียง
โดยทั่วไปภาวะติดเตียงสามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยสาเหตุของภาวะนี้ส่วนใหญ่มักจะเกิดโรคประจำตัว ได้แก่
- โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ทั้งโรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic Stroke) และโรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke)
- โรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น
- โรคเบาหวาน
- โรคมะเร็ง
- โรคไต
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson)
- โรคสมองเสื่อม
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคดังที่กล่าวไว้ข้างต้นสามารถพบแพทย์อย่างใกล้ชิดได้ และทำการรักษาอาการแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นคนไข้ติดเตียงในอนาคต นอกจากโรคประจำตัวแล้ว ภาวะติดเตียงยังสามารถเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้ เช่น
- ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง และต้องผ่านการผ่าตัดใหญ่
- บาดเจ็บทางกระดูกสันหลัง
- การติดเชื้อในกระแสเลือด
- ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
- ร่างกายเสื่อมถอยตามวัย
ผู้ป่วยติดเตียง สามารถแบ่งได้กี่ประเภท

ผู้ป่วยนอนติดเตียง สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ กลุ่มสีเขียว กลุ่มสีเหลือง และกลุ่มสีแดง โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
คนไข้ติดเตียงกลุ่มสีเขียว
สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเป็นผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มมีอาการระยะแรก-ระดับกลาง พอเคลื่อนไหวร่างกายได้ และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เกือบทุกอย่าง แต่บางครั้งต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้ดูแล หรือช่วยประคองร่างกาย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุต่าง ๆ
คนไข้ติดเตียงกลุ่มสีเหลือง
ส่วนกลุ่มผู้ป่วยประเภทสีเหลือง เป็นผู้ป่วยที่เริ่มมีอุปสรรคในการทำกิจวัตรประจำวัน มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เคลื่อนไหวร่างกายได้แค่บางส่วน ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงใช้เวลาอยู่บนเตียงเป็นส่วนใหญ่ ต้องมีผู้ดูแลช่วยทำกิจวัตรประจำวัน และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น แผลกดทับ แผลติดเชื้อ เป็นต้น
คนไข้ติดเตียงกลุ่มสีแดง
และกลุ่มผู้ป่วยประเภทสุดท้ายกับกลุ่มสีแดงเป็นกลุ่มคนป่วยติดเตียงที่มีอาการรุนแรงที่สุด โดยกลุ่มผู้ป่วยประเภทนี้จะไม่สามารถขยับร่างกายได้เลย ต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด และมักจะมีปัญหาภาวะแทรกซ้อนตามมา ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ แผลกดทับ เป็นต้น
5 อาการเด่นชัด สังเกตได้ในกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง

โดยทั่วไปอาการของกลุ่มผู้ป่วยนอนติดเตียงมักจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและระยะเวลาที่นอนติดเตียง ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม โดยสามารถสังเกตได้จาก 5 เช็กลิสต์อาการเด่นที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนในกลุ่มคนไข้ติดเตียง ดังต่อไปนี้
ผู้ป่วยเริ่มทานอาหารได้น้อยลง
เมื่อผู้ป่วยเริ่มไม่มีแรง และใช้เวลาส่วนใหญ่บนเตียง หลายเคสจะไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ปกติ เนื่องจากไม่มีแรง ส่งผลให้กล้ามเนื้อขา หรือแขนลีบเล็กลง ทำให้ร่างกายอ่อนแอ โดยอาการนี้มักจะมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย
ท้องผูก
เมื่อร่างกายรับปริมาณอาหารน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ประกอบกับผู้ป่วยไม่สามารถเคี้ยวหรือกลืนอาหารได้ จึงทำให้ร่างกายรับสารอาหาร เช่น กากอาหาร หรือวิตามินต่าง ๆ ได้น้อยลง ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกตามมา
กล้ามเนื้อลีบ
ยิ่งผู้ป่วยใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนเตียงนานเท่าไร กล้ามเนื้อก็ยิ่งหายไปมากเท่านั้น เพราะผู้ป่วยจะไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อไม่ได้ใช้งาน จนกล้ามเนื้อค่อย ๆ ลีบลงเรื่อย ๆ
ภาวะปอดแฟบ
นอกจากการนอนติดเตียงจะส่งผลเสียต่ออวัยวะภายนอกและการขับถ่ายแล้ว ยังส่งผลเสียต่ออวัยวะภายในอย่างปอดอีกด้วย ซึ่งคนไข้ติดเตียงส่วนใหญ่มักจะมีภาวะปอดแฟบ (Atelectasis) หายใจระยะสั้น ๆ กว่าคนทั่วไป ทำให้หายใจไม่สะดวก และเหนื่อยง่ายกว่าปกติ
เริ่มมีอาการหลงลืม
และที่สำคัญ คนป่วยติดเตียงที่นอนติดเตียงนาน ๆ ยังส่งผลต่อการทำงานของสมอง ความสามารถจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนเกิดอาการหลงลืมในที่สุด
เปิด 6 เรื่องควรระวังที่ต้องรู้ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง

เปิด 6 เรื่องควรระวังที่ผู้ดูแลหรือสมาชิกในครอบครัวต้องรู้ในการดูแลคนไข้ติดเตียง มีดังต่อไปนี้
แผลกดทับ
แผลกดทับเกิดจากการที่ผิวหนังได้รับแรงกดทับต่อเนื่อง ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่สะดวก จนทำให้เซลล์อาจตายและเกิดเป็นแผล โดยส่วนใหญ่มักพบในบริเวณท้ายทอย ข้อศอก กระดูกก้นกบ กระดูกสะโพก เป็นต้น หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม จะยิ่งเพิ่มโอกาสติดเชื้อและอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
ข้อติดและกล้ามเนื้อลีบ
เมื่อผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้น้อยลง หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนเตียง กล้ามเนื้อก็จะค่อย ๆ ลีบลงจากการไม่ได้ใช้งาน และมีอาการข้อติดตามลำดับ ซึ่งเกิดจากการที่เนื้อเยื่อรอบ ๆ ข้อต่อตามร่างกาย เช่น เอ็นและกล้ามเนื้อหดรั้ง ทำให้ข้อต่อติดและไม่สามารถเหยียดหรืองอได้เต็มที่ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดเมื่อพยายามเคลื่อนไหวข้อต่อ
ภาวะกลืนลำบาก
ภาวะกลืนลำบาก (Dysphagia) เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของความผิดปกติในการกลืน ทำให้อาจกลืนสิ่งต่าง ๆ ได้ยากลำบากหรือมีอาการเจ็บเวลากลืน เช่น ขณะกลืนอาหาร หรือของเหลวบางชนิด กลืนน้ำลาย เป็นต้น เสี่ยงต่อการเกิดอาการสำลักขณะรับประทาน ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะปอดติดเชื้อได้
ภาวะซึมเศร้า
เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง หรือทำกิจกรรมที่เคยทำได้ด้วยตัวเอง ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเบื่อ เกิดความเครียด และเริ่มหมดความหวังในการใช้ชีวิต ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้าได้
ความสะอาด
เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้ คนป่วยติดเตียงควรได้รับการทำความสะอาดร่างกายอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่มีสายต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นสายอาหาร สายปัสสาวะ หรือเจาะคอ ควรได้รับการเปลี่ยนสายและทำความสะอาดอุปกรณ์อย่างถูกต้องและเหมาะสม
ภาวะแทรกซ้อน
นอกจากนี้ คนไข้ติดเตียงยังมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน ๆ ได้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เช่น แผลติดเชื้อ ปอดติดเชื้อ ติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งอาจนำไปสู่โรคกระดูกพรุน และอัลไซเมอร์ เป็นต้น
แจก 5 แนวทางการดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างไรให้ถูกต้องและเหมาะสม

แจก 5 แนวทางดูแลกลุ่มผู้สูงอายุติดเตียงและคนไข้ติดเตียงอย่างไรให้ถูกต้องและเหมาะสม ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
การดูแลด้านอาหารและโภชนาการ
ควรปรับเมนูและสารอาหารให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ โดยเน้นอาหารที่มีโปรตีน วิตามินและแร่ธาตุสูง และที่สำคัญก่อนรับประทานอาหาร ควรจัดท่านั่งระดับ 45 องศา เพื่อลดความเสี่ยงในการสำลักอาหาร โดยอาจใช้หมอนช่วยดันหลัง เพื่อช่วยในการทรงตัวได้
นอกจากนี้ ยังควรปรับระดับความเข้มข้นของอาหารให้เหมาะสมกับผู้ป่วยด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการสำลักอาหาร ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะปอดติดเชื้อ ทั้งนี้ ผู้ป่วยนอนติดเตียงควรอยู่ภายใต้การดูแลของนักกิจกรรมบำบัด (Occupation Therapist) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุสามารถกลืนอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
การดูแลความสะอาดและสุขอนามัยผู้ป่วย
นอกจากด้านโภชนาการแล้ว การทำความสะอาดร่างกายผู้ป่วยก็มีความสำคัญเช่นกัน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น แผลกดทับ การติดเชื้อ และปัญหาผิวหนัง การดูแลความสะอาดที่เหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัว สดชื่น และมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยการทำความสะอาดร่างกายจะเน้นเช็ดตัวจะเน้นบริเวณที่อับชื้น เช่น ใต้รักแร้ ขาหนีบ บริเวณอวัยวะเพศ จากนั้นทาครีมบำรุงผิว เพื่อป้องกันผิวแห้งแตก และลดความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับ และการสระผม อย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์
ส่วนการทำความสะอาดช่องปาก (Mouth Care) จะทำความสะอาดตั้งแต่ฟัน เหงือก ลิ้น เพดานปาก และเยื่อบุช่องปากให้กับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ เพื่อกำจัดคราบอาหาร เศษอาหาร และแบคทีเรียที่สะสมในช่องปาก รวมถึงการตรวจเช็กสุขภาพช่องปากไปในตัวด้วย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะปอดติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจาก คนป่วยติดเตียงมักมีปัญหาการกลืน และสำลักอาหารและน้ำอยู่บ่อยครั้ง และที่สำคัญ ผู้ดูแลต้องหมั่นตัดเล็บมือและเท้าให้ผู้ป่วยเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดการบาดเจ็บ และการสะสมของสิ่งสกปรกด้วย
นอกจากนี้ ด้านสุขอนามัยในการขับถ่ายก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยผู้ดูแลควรหมั่นทำความสะอาดอวัยวะขับถ่าย ทั้งถ่ายหนักและถ่ายเบาของผู้ป่วยให้สะอาดอยู่เสมอ และให้ผู้ป่วยดื่มน้ำสะอาดให้ได้เพียงพอ เพื่อให้ปัสสาวะไม่ข้นหรือมีสีเข้ม และช่วยให้การขับถ่ายง่ายยิ่งขึ้น
ผู้ป่วยติดเตียงควรอยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก
เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ผู้ป่วยนอนติดเตียงควรพักในห้องที่มีอากาศถ่ายเท และสะอาด ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญ ผู้ดูแลต้องหมั่นพลิกตัวให้กับผู้ป่วยทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อลดโอกาสเกิดแผลกดทับ และเพิ่มประสิทธิภาพในการหายใจ
การดูแลด้านจิตใจและอารมณ์
เนื่องจาก คนไข้ติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างที่ควรจะเป็น และต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนเตียง ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เริ่มมีความเครียดสะสม ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ผู้ดูแลและสมาชิกในครอบครัว ควรพูดคุยและให้กำลังใจผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ หรือทำกิจกรรมที่ผู้ป่วยชื่นชอบด้วยกัน เช่น การฟังเพลง ดูโทรทัศน์ หรืออ่านหนังสือ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกอบอุ่น และไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
การทำกายภาพบำบัด
เพื่อป้องกันภาวะข้อติด และเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยนอนติดเตียงควรได้รับการทำกายภาพบำบัด (Physical Therapy) แบบลงน้ำหนักอย่างต่อเนื่องและถูกวิธี เพื่อเพิ่มกำลังให้กับกล้ามเนื้อ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ปอดขยายได้เต็มที่ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยพอจะช่วยเหลือตัวเองได้ และกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
คำถามที่พบบ่อย
ผู้ป่วยติดเตียง มีกี่ประเภท
1. คนไข้ติดเตียงกลุ่มสีเขียว : ผู้ป่วยยังพอเคลื่อนไหวและทำกิจวัตรประจำวันได้เกือบทุกอย่าง แต่บางครั้งต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้ดูแลประคองร่างกาย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้
2. คนไข้ติดเตียงกลุ่มสีเหลือง : ผู้ป่วยประเภทนี้จะเริ่มมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เคลื่อนไหวได้แค่บางส่วน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำกิจวัตรประจำวัน และมีเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ๆ ต่าง ๆ เช่น แผลกดทับ แผลติดเชื้อ เป็นต้น
3. คนไข้ติดเตียงกลุ่มสีแดง : ส่วนผู้ป่วยประเภทสุดท้ายจะเป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือช่วยเหลือตัวเองได้เลย และมักจะมีปัญหาภาวะแทรกซ้อนตามมา ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ แผลกดทับ เป็นต้น
ผู้ป่วยติดเตียง สามารถอยู่ได้กี่ปี
โดยทั่วไป ระยะเวลาที่คนไข้ติดเตียงจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานแค่นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เช่น
1. สาเหตุของการติดเตียง
คนไข้ติดเตียงที่มีสาเหตุจากโรคที่สามารถรักษาได้ มีโอกาสที่จะกลับมาใช้ชีวิตและช่วยเหลือตัวเองได้ โดยไม่ต้องใช้ชีวิตอยู่บนเตียง ในขณะที่ผู้ป่วยนอนติดเตียงจากโรคร้ายหรือโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยตามวัย เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ หรือโรคสมองเสื่อม เป็นต้น อาจมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในภาวะติดเตียงมากกว่าโรคที่สามารถรักษาได้
2. สุขภาพโดยรวม
ผู้ป่วยที่มีพื้นฐานสุขภาพแข็งแรงและไม่มีโรคแทรกซ้อนร้ายแรง อาจมีชีวิตอยู่ได้นานกว่าผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหลายโรค หรือมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
3. การดูแลรักษา
ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมและป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอายุยืนยาวขึ้น
ผู้ป่วยติดเตียง มีโอกาสหายไหม
ปัจจุบัน ในทางการแพทย์ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า คนไข้ติดเตียงจะสามารถรักษาให้หาย และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เนื่องจากโอกาสในการรักษาให้หายขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัวของผู้ป่วย สาเหตุที่ทำให้นอนติดเตียง สภาพทางกายภาพของผู้ป่วย รวมไปถึงการรักษาและการดูแลสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย แต่การได้รับการทำกายภาพบำบัดและการทำกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) ที่เหมาะสมกับอาการและต่อเนื่อง ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คนป่วยติดเตียงมีโอกาสหายได้
ผู้ป่วยติดเตียง ถือเป็นคนพิการไหม
คนไข้ติดเตียงอาจถือเป็นผู้พิการได้ หากความเจ็บป่วยหรือความพิการนั้นส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองได้ ซึ่งอาจเข้าข่ายความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย
ภาวะแทรกซ้อนจากการนอนติดเตียง มีอะไรบ้าง
1. แผลกดทับ (Pressure Ulcers)
เกิดจากการที่ผิวหนังกดทับกับพื้นผิวเป็นเวลานาน ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ผิวหนังขาดออกซิเจนและสารอาหารจนเกิดเป็นแผล ส่วนใหญ่พบในบริเวณปุ่มกระดูก เช่น บริเวณหลัง สะโพก ข้อศอก และส้นเท้า
2. ภาวะข้อติด (Joint Contractures)
การนอนอยู่ท่าเดิมนาน ๆ ทำให้ข้อต่อต่าง ๆ ตามร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหว จนเกิดการยึดติดและแข็ง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดเมื่อพยายามเคลื่อนไหวข้อต่อ
3. กล้ามเนื้ออ่อนแรงและฝ่อลีบ (Muscle Weakness and Atrophy)
เมื่อผู้ป่วยไม่ได้ใช้งานกล้ามเนื้อเป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อค่อย ๆ ลีบเง และสูญเสียความแข็งแรง
4. การติดเชื้อ (Infections)
ผู้ป่วยที่นอนติดเตียงนาน ๆ มักจะมีภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะการติดเชื้อในช่องปอดและทางเดินปัสสาวะ
5. ปัญหาการขับถ่าย (Bowel and Bladder Problems)
การเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง และการรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน หรือการใช้ผ้าอ้อม อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
6. ปัญหาทางจิตใจ (Psychological Problems)
เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องนอนติดเตียงตลอดเวลา อาจทำให้เกิดความเครียดสะสม และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้