โรค TIA คือ ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว อาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรก (Stroke) ช่วงสั้น ๆ เหมือนจะไม่อันตราย แต่จริง ๆ แล้วหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราวอันตรายกว่าที่คิด เปิดเช็กลิสต์ 6 สัญญาณอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว รู้ทันก่อนเมื่อสมองส่งสัญญาณ SOS สัญญาณเตือนก่อนเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
ทำความรู้จักสมองขาดเลือดชั่วคราว หรือโรค TIA คืออะไร?
ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว หรือ TIA ย่อมาจาก Transient Ischemic Attack เป็นภาวะที่สมองบางส่วนขาดเลือดไปเลี้ยงชั่วคราว ทำให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น อ่อนแรง ชา มึนงง หรือพูดลำบาก บางครั้งอาการเส้นเลือดในสมองตีบชั่วคราวก็เรียกว่า Mini Stroke เนื่องจากอาการคล้ายกับโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) แต่รุนแรงน้อยกว่า และอาการจะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง
ทำไมอาการ Mini Stroke ถึงมีความสำคัญ?
เพราะภาวะนี้เป็นสัญญาณเตือนของสมองว่าอาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในอนาคตได้ ซึ่งหากไม่ได้รับการตรวจและทำการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม จะนำไปสู่อัมพฤกษ์อัมพาต ภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตในที่สุด
อาการสมองขาดเลือดชั่วคราว เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ส่วนสาเหตุการเกิด Mini Stroke สามารถเกิดได้จาก 4 สาเหตุหลัก ๆ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) การสะสมของคราบพลัค (Plaque) และลิ่มเลือด โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
ความดันโลหิตสูง
การที่ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ เสียความยืดหยุ่น ทำให้ไขมันสะสมที่ผนังหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น และยังเพิ่มโอกาสในการก่อตัวของลิ่มเลือดอีกด้วย
ภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia)
ภาวะไขมันในเลือดสูง คือ การที่ร่างกายมีระดับไขมันชนิด LDL หรือไขมันเลวสูง ทำให้เกิดการสะสมตามผนังหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงในการสะสมจนเกิดเป็นคราบพลัค ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักในการเกิด Mini Stroke
การสะสมของคราบพลัค (Plaque)
คราบพลัคเกิดจากการสะสมของไขมันที่ไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแคบลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ลดลง และอาจแตกออกเป็นลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดสมองได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic Stroke) และที่สำคัญ ผู้ที่มีคราบพลัคสะสมยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนทั่วไปด้วย
ลิ่มเลือด
นอกจากการสะสมของไขมัน การอุดตันของลิ่มเลือดในสมอง (Thrombosis) รวมถึงภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย และเคลื่อนที่ไปตามกระแสเลือดจนไปติดในสมองก็เป็นสาเหตุหลักในการเกิด TIA โรคสมองขาดเลือดชั่วคราวเช่นกัน ซึ่งลิ่มเลือดสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบเอเทรียลฟิบริลเลชัน (Atrial Fibrillation) หรือ AFib
ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดสมองขาดเลือดชั่วคราว
นอกจาก 4 สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดอาการสมองขาดเลือดชั่วคราวแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดงจนทำให้เส้นเลือดในสมองตีบชั่วคราว เช่น
- คนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรืออาการสมองขาดเลือดชั่วคราวมาก่อน
- อายุที่มากขึ้น (ทำให้หลอดเลือดสูญเสียความยืดหยุ่น)
- เพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย
- โรคเบาหวาน
- โรคอ้วน
- โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (PAD) : เป็นภาวะที่มีการสะสมของคราบพลัคในหลอดเลือดแดง มักพบบริเวณแขนและขา ผู้ป่วยโรคนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- ระดับโฮโมซิสเทอีนสูง คือ กรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นย่อยโปรตีน เมื่อร่างกายมีระดับโฮโมซิสเทอีนสูง จะทำหลอดเลือดแดงอักเสบ นำไปสู่การเกิดลิ่มเลือดในที่สุด
- การรับประทานอาหารไม่เหมาะสม เช่น ทานอาหารเค็ม อาหารที่มีไขมันสูง ไม่รับประทานผักและผลไม้
- ความเครียด
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
- การสูบบุหรี่
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวไว้ข้างต้น นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด Mini Stroke แล้ว การตรวจสุขภาพประจำทุกปี และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ควบคู่ไปพร้อม ๆ กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างตรงจุดอีกด้วย
5 สัญญาณเตือนอาการ TIA สมองส่งสัญญาณ SOS
ส่วนสัญญาณอาการเตือนสมองขาดเลือดชั่วคราว สามารถสังเกตได้จาก FAST เกิดขึ้นทันทีและสามารถหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง โดยสามารถสังเกตได้จาก 5 สัญญาณเตือน เมื่อสมองเริ่มส่งสัญญาณ SOS โดยอาการหลัก ๆ ของโรคสามารถสังเกตได้ ดังต่อไปนี้
- มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง โดยไม่มีสาเหตุ
- อาการเวียนหัว สับสน เดินเซ
- เริ่มมีปัญหาในการมองเห็นแบบฉับพลัน เช่น มองเห็นภาพไม่ชัด หรือมองเห็นภาพซ้อน เป็นต้น
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง บริเวณใบหน้า แขน และขาชา
- พูดไม่ชัด ๆ หรือไม่สามารถพูดได้
ถึงแม้ Mini Stroke จะเป็นโรคหรือภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว และไม่สร้างความเสียหายถาวรให้กับสมอง แต่ก็ไม่ควรปล่อย เพราะผู้ที่มีสัญญาณอาการหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราว มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นซ้ำอีก และยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองในอนาคตมากกว่าคนทั่วไป ควรรีบพบแพทย์ เพื่อหาแนวทางในการรักษา รู้ก่อน รอดปลอดอัมพาต
ภาวะแทรกซ้อนของ Mini Stroke มีอะไรบ้าง?
โดยทั่วไป ความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยที่มีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว มีโอกาสมากถึง 20% ที่จะเกิดโรคหลอดเลือกสมองภายใน 90 วัน ดังนั้น หากพบคนใกล้ตัวหรือสมาชิกในครอบครัวมีสัญญาณเตือนของโรค ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ถึงแม้อาการดังกล่าวจะหายไปแล้วก็ตาม
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงจะเป็นหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราว?
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองขาดเลือดชั่วคราวหลัก ๆ แล้วจะเป็นเรื่องพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นหลัก รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
- การสูบบุหรี่
- การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
- ไม่ค่อยออกกำลังกาย
- การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
- โรคอ้วน
- ผู้สูงอายุ (มากกว่า 55 ปี)
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน
- ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การรักษาภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA)
ในส่วนของการรักษาอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว จะขึ้นอยู่กับอาการและสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล เช่น อายุ ประวัติการรักษา ฯลฯ โดยแพทย์จะทำการรักษาตามสาเหตุของอาการ เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในอนาคต ได้แก่
การรักษาเส้นเลือดในสมองตีบชั่วคราวด้วยการใช้ยา
- แอสไพริน : ช่วยลดโอกาสในการจับตัวของเกล็ดเลือด ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือด
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด : ช่วยให้เลือดแข็งตัวช้ากว่าปกติ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด โดยทั่วไปจะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น Warfarin, Apixaban เป็นต้น
- ยาลดความดันโลหิต : เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดในสมองตีบชั่วคราว
- ยาลดไขมัน : ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล (LDL) ในเลือด หนึ่งในตัวการที่ทำให้หลอดเลือดตีบ เช่น Atorvastatin (Lipitor), Rosuvastatin (Crestor) เป็นต้น
การรักษาอาการสมองขาดเลือดชั่วคราวด้วยสายสวน
เป็นวิธีการที่ช่วยกำจัดลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดสมองโดยตรง ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
TIA การรักษาด้วยการผ่าตัด
และวิธีการสุดท้ายในการรักษา คือ การผ่าตัด เช่น การผ่าตัดหลอดเลือดแดงคอโดรติด (Carotid Endarterectomy) ซึ่งเป็นหลอดเลือดหลักที่ส่งเลือดไปเลี้ยงที่สมอง เพื่อกำจัดคราบพลัคและขยายหลอดเลือด ช่วยให้กระแสเลือดไหลผ่านได้สะดวกได้
วิธีป้องกันอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว
ถึงแม้สมองขาดเลือดชั่วคราวจะเป็นอาการที่อาจจะไม่ได้สร้างความเสียหายในระยะยาว แต่สามารถพัฒนาเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ ดังนั้น การควบคุมปัจจัยเสี่ยงและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทำให้เกิด Mini Stroke ตั้งแต่เนิ่น ๆ ควบคู่ไปพร้อม ๆ กับการตรวจสุขภาพ จะช่วยแก้ปัญหาระยะยาวได้อย่างตรงจุด ได้แก่
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารที่มีกากใย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียม น้ำตาล หรือไขมันสูง เพื่อลดความเสี่ยงจากความดันโลหิตสูง และการสะสมคอเลสเตอรอลในร่างกาย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- ตรวจสุขภาพประจำปี หากพบความผิดปกติในหลอดเลือดจะได้ทำการรักษาได้ก่อนจะเกิดอันตราย
- งดสูบบุหรี่ ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ หรือเลิกดื่มเลยจะดีที่สุด
- พักผ่อนให้เพียงพอ
สำหรับผู้ที่กำลังมองหาศูนย์ฟื้นฟูโรคหลอดเลือดสมอง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการเรื่องการรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพ ด้วยศาสตร์การฟื้นฟูร่างกายแบบไคโก-โดะ (Kaigo-Do) พร้อมออกแบบแผนการฟื้นฟูแบบรายบุคคลด้วยความเข้าใจ ไว้ใจเรา PNKG Recovery and Elder Care ศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยหลังผ่าตัดและดูแลผู้สูงอายุ บริการกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยสโตรก สามารถติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
- ศูนย์ PNKG Recovery and Elder Care ชั้น 2 โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ตั้งแต่เวลา 8:30 – 17:30 น. จันทร์ – เสาร์ (ปิดบริการวันอาทิตย์)
- Line : PNKG
- Facebook : PNKG Recovery and Elder Care
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสมองขาดเลือดชั่วคราว
TIA อาการเป็นอย่างไร?
1. มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง โดยไม่มีสาเหตุ
2. อาการเวียนหัว สับสน เดินเซ
3. เริ่มมีปัญหาในการมองเห็นแบบฉับพลัน เช่น มองเห็นภาพไม่ชัด หรือมองเห็นภาพซ้อน เป็นต้น
4. กล้ามเนื้ออ่อนแรง บริเวณใบหน้า แขน และขาชา
5. พูดไม่ชัด ๆ หรือไม่สามารถพูดได้
TIA กับ Stroke ต่างกันอย่างไร
อาการสมองขาดเลือดชั่วคราวกับโรคหลอดเลือดสมองมีความคล้ายกันมาก ๆ เพียงแต่สัญญาณ TIA อาการ ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง โดยไม่สร้างความเสียหายถาวรต่อสมอง และที่สำคัญ สมองขาดเลือดชั่งคราวยังเป็นสัญญาณเตือนในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในอนาคตด้วย
หากเคยมีภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว จะป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำได้อย่างไร?
1. รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
2. พบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
3. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตตามคำแนะนำของแพทย์
4. ควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด
5. สังเกตอาการผิดปกติและรีบพบแพทย์หากมีอาการเตือน