รู้หรือไม่? ในปี 2562 ในประเทศไทยมีผู้ป่วยสโตรกหรือผู้ป่วยหลอดเลือดสมองประมาณ 300,00 – 400,000 คน และมีผู้ป่วยเสียชีวิตประมาณ 35,000 คน
จากการสำรวจประชากรขององค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลกพบว่า ปี 2563 มีผู้ป่วยเป็นสโตรกหรือโรคหลอดเลือดสมองกว่า 80 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5.5 ล้านคน พบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น ถึง 14.5 ล้านคนต่อปี และ 1 ใน 4 เป็นผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก คืออะไร?
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก คือ ภาวะการขาดเลือดอย่างเฉียบพลันในสมอง ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น หลอดเลือดอุดตันหรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ ส่งผลให้สมองถูกทำลาย เสียหาย จนสุดท้ายสมองสูญเสียการทำงาน และเนื้อสมองตายไปในที่สุด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- โรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) การอุดตันของหลอดเลือดอาจเกิดจากลิ่มเลือดจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไหลมาอุดตำแหน่งของหลอดเลือดสมอง หรืออาจเกิดจากลิ่มเลือดก่อตัวเป็นก้อนเลือดในหลอดเลือดแล้วค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือด ส่วนอาการตีบของหลอดเลือดเกิดจากคลอเลสเตอรอลหรือไขมันในผนังหลอดเลือดที่มีปริมาณมากขึ้น จนรูหลอดเลือดค่อย ๆ ตีบลง ความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลงจนเกิดอาการหลอดเลือดตีบ มักเกิดร่วมกับโรคประจำตัว เช่น โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากหลอดเลือดแตก (Hemorrhagic Stroke) มักจะเกิดพยาธิสภาพที่หลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น เปราะบาง ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดร่วมด้วยกับโรคความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณหลอดเลือดนั้นปริแตกได้ง่าย ผลที่ตามมาคือปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างเฉียบพลัน
ใครที่มีภาวะเสี่ยงเป็นสโตรกหรือโรคหลอดเลือดสมองบ้าง?
-
ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหลอดเลือด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง
-
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ มีอัตราการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ ซึ่งอาจทำให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นภายในหัวใจ และเมื่อลิ่มเลือดหลุดไป อาจเดินทางไปอุดตันที่สมอง
-
ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
-
ผู้ที่รับประทานฮอร์โมนเพศหญิง จะเพิ่มโอกาสการเกิดสโตรกหรือโรคหลอดเลือดสมองได้
วิธีสังเกตอาการสโตรกหรือเส้นเลือดในสมองแตก
แน่นอนว่า โรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรก เป็นโรคที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม โรคหลอดเลือดสมองจะส่ง 6 สัญญาณเพื่อเตือนให้เราระวังตัว ซึ่งบางครั้งอาการอาจเกิดขึ้นแบบชั่วคราว มักไม่เกิน 60 นาที และหายเป็นปกติ แต่หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที รีบตรวจ รีบรักษา อาจป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรกได้
-
ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
-
มีอาการชา เช่น แขนหรือขาชา หรือแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก
-
นึกคำพูดไม่ออก หรือฟังคนอื่นไม่เข้าใจ
-
เดินเซ ทรงตัวลำบาก
-
ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
-
การมองเห็นผิดปกติ เช่น เกิดภาพซ้อน
ทำไมสโตรกต้องทำกายภาพบำบัดภายใน 6 เดือนแรก?
หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “เป็นสโตรกต้องรีบฟื้นฟูภายใน 6 เดือนแรกหรือช่วง Golden Period” แต่เคยสงสัยไหมคะว่า ทำไมต้องฟื้นฟูในช่วงเวลานี้ ฟื้นฟูหลังจากนี้ได้ไหม ช่วงเวลานี้สำคัญอย่างไร หาคำตอบได้ที่นี่เลย
Golden Period คือช่วงเวลาทอง เริ่มนับตั้งแต่ผู้ป่วยผ่านพ้นวิกฤติเป็นต้นไป ไม่เกิน 3 เดือนหรืออย่างมากที่สุด 6 เดือน และเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เพราะสมองและเส้นประสาทยังสามารถกระตุ้น ฟื้นฟูได้ แต่ถ้าหากหลังจาก 6 เดือนไปแล้ว ก็ยังสามารถกายภาพบำบัดได้อยู่ แต่อัตราการพัฒนาของสมองจะลดน้อยลง
การฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แบ่งได้ 3 ระยะ
-
ระยะเฉียบพลัน
คือ ระยะ 1 – 2 สัปดาห์นับจากผู้ป่วยมีอาการสโตรกหรือโรคหลอดเลือดสมอง การบำบัดในระยะนี้จะเริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยยังนอนอยู่บนเตียง โดยจุดประสงค์คือเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน ป้องกันกล้ามเนื้อหดตัวและข้อต่อยึดติด และเพื่อให้ผู้ป่วยสูญเสียพละกำลังน้อยที่สุด
-
ระยะฟื้นตัว
คือ ระยะ 3-6 เดือนนับจากผู้ป่วยมีอาการสโตรกหรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นระยะที่ต้องเร่งการรักษาและกายภาพบำบัด เพื่อให้เซลล์สมองกลับมาทำงาน และฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาทำงานได้ใกล้เคียงปกติ
-
ระยะทรงตัว
คือ ระยะ 6 เดือนขึ้นไปนับจากผู้ป่วยมีอาการสโตรกหรือโรคหลอดเลือดสมอง ในระยะนี้ หากผู้ป่วยยังมีอาการบกพร่องและยังไม่ได้รับการรักษาหรือกายภาพบำบัดให้ดีขึ้น จะมีโอกาสสูงมากที่อาการเหล่านี้จะติดต่อไปตลอดชีวิต นอกจากนี้ ระยะทรงตัวยังเป็นระยะที่ต้องกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้สมรรถภาพของผู้ป่วยลดลง
สโตรกหรือโรคหลอดเลือดสมอง รักษาหายไหม?
ส่วนใหญ่ผู้ที่เป็น สโตรกหรือโรคหลอดเลือดสมอง มักจะหลงเหลือความผิดปกติไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับพื้นที่ความเสียหายของสมองและความรวดเร็วในการได้รับความช่วยเหลือ ถ้าหากพบอาการเร็วหรือคุณหมอวินิจฉัยเจอเร็ว ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาการมักจะดีขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนหรือใกล้เคียงปกติ
ถึงแม้ว่า สโตรกหรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่ยากจะคาดเดาว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และเกิดขึ้นกับใคร แต่เราสามารถป้องกันความเสี่ยงหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เช่น ถ้าหากมีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวานหรือไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยควรรักษาหรือควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติหรืออยู่ในการดูแลของคุณหมอ สำหรับคนที่ไม่มีโรคประจำตัว ทางที่ดีคือ ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หมั่นออกกำลังสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์
หากท่านสนใจรับบริการฟื้นฟูร่างกายควบคู่ไปกับการดูแลทางด้านจิตใจ ด้วยศาสตร์แห่งไคโก-โดะ ศาสตร์การฟื้นฟูแบบฉบับญี่ปุ่นที่มีประสิทธิภาพ อย่ารอช้า ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ PNKG Recovery and Elder Care ชั้น 2 โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ตั้งแต่เวลา 8:30 – 17:30 น. จันทร์ – เสาร์ (ปิดบริการวันอาทิตย์) หรือ คลิกที่นี่